แจ้งอัพเดต

ปรึกษาปัญหาสัตว์เลี้ยง ที่บอร์ด คลีนิคออนไลน์ได้เลยนะคะ บอร์ด คลีนิคออนไลน์

 

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว (Feline Infectious Peritonitis : FIP)

โรคเยื่อบุช่องทองอักเสบ (Feline Infectious Peritonitis : FIP)

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส Feline Coronavirus (FCoV) เชื้อนี้มีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ สามารถเจริญเติบโตในเม็ดเลือดขาวบางชนิด ซึ่งเซลล์ที่ติดเชื้อจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่วตัวแมว

การติดต่อของโรค
ติดโรคโดยเชื้อไวรัสเข้าทางช่องปากและจมูก จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำลาย หรืออุจจาระของแมวที่ป่วยด้วยโรคนี้ หรือสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ชามอาหาร-น้ำ หรือของเล่นแมว
โรคจะเข้าสู่ทางเดินอาหาร และเมื่อเข้าสู่ลำไส้แล้ว ก็จะมีแผลและอาการต่างๆ อีกหลายขั้นตอนจนทำให้เกิดวิการและปัญหาต่างๆ กับอวัยวะต่างๆ ในช่องท้องและช่องอก

อาการ
การสัมผัสเชื้อไวรัสนี้ ครั้งแรกจะไม่ทำให้เกิดอาหารที่เด่นชัด แมวบางตัวอาจมีปัญหากับระบบทางเดินหายใจส่วนต้นอย่างอ่อนๆ โดยแสดงอาการจาม มีน้ำมูก น้ำตาไหล แมวส่วนใหญ่ที่มีการติดเชื้อครั้งแรกมักจะหาย แต่ก็มีบางตัวที่กลายเป็นพาหะของเชื้อไวรัส
โรคนี้มีอาการหลักอยู่ 2 แบบ คือ
แบบแห้ง (Non-effusive)
แบบเปียก (Effusive) ส่วนใหญ่เป็นแบบเปียก จะมีการสะสมของของเหลวในช่องท้อง หรือ/และ ช่องอก ถ้าของเหลวสะสมเป็นจำนวนมากแมวจะหายใจลำบาก
ในแบบแห้งอาการจะเป็นอย่างช้าๆ ไม่ค่อยมีของเหลวสะสม แต่พบอาการซึม น้ำหนักลด โลหิตจาง และเป็นไข้ อาจพบอาการไตวาย โรคของระบบประสาท หรือโรคตา

การรักษา
ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล โดยมากรักษาตามอาการ เพื่อให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น มีการใช้สารเสริมอาหารต่างๆ ยาปฏิชีวนะ สเตียรอยด์ ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) อินเตอร์เฟียรอน ยาต้านไวรัสต่างๆ แต่ผลที่ได้ยังไม่ดี

การควบคุมโรค
การสุขาภิบาลของที่อยู่อาศัยต้องดี แยกสัตว์ป่วยออก ไม่ควรปล่อยแมวออกเที่ยวนอกบ้าน เพราะอาจทำให้ติดโรคมาได้ อย่าเลี้ยงแมวให้หนาแน่นมาก ฉีดวัคซีนแมวเป็นประจำ ให้อาหารที่มีโภชนาการที่ดี

การป้องกันโรค
โดยการใช้วัคซีน ป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หยอดจมูกแมวอายุตั้งแต่ 16 สัปดาห์ขึ้นไป 2 ครั้ง ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และทำซ้ำทุกปีอุบัติการณ์ของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (FIP) ที่สูงและขาดวิธีการรักษาที่ได้ผล ทำให้การป้องกันโรค FIP เป็นสิ่งที่สำคัญ ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้ คือ วัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แบบหยอดจมูก
เป็นวัคซีนชนิดหยอดจมูกที่ได้รับการพิสูจน์ว่าช่วยลดการเกิดโรค FIP ในแมวที่ได้รับวัคซีน
การหยอดจมูกด้วยวัคซีนจะกระตุ้นให้เกิด mucosal IgA และ cell-mediated Immune (CMI) อย่างมาก

ข้อมูลจาก: แผ่นพับ Animal Health ของ บริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ไข้น้ำนมในสุนัข

Eclampsis หรือโรคไข้น้ำนมในสุนัข

โรคไข้น้ำนมหรือเรียกว่าเป็นภาวะมีแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ เป็นภาวะฉุกเฉินยิ่ง โดยมักพบในสุนัขมากกว่าในแมว มักแสดงอาการเด่นชัดที่กล้ามเนื้อทั่วร่างกาย สั่น หอบ ตากระตุกและเดินไม่สัมพันธ์กัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิสูงตามมาจากการสั่นของกล้ามเนื้อ โดยมักจะพบในสุนัขหลังคลอดลูกแล้วที่ให้น้ำนมในปริมาณมาก ก็จะสูญเสียแคลเซียมในร่างกายไปกับน้ำนมด้วย

อาการ : กล้ามเนื้อกระตุก สั่น หอบ ชักเกร็ง เดินไม่สัมพันธ์กัน มีไข้สูงอาจถึง 106 องศาฟาเรนไฮต์

สาเหตุ : ภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำเนื่องจาก

– ภาวะขาดสารอาหาร
– ปริมาณอัลบูมินในกระแสเลือดต่ำ
– โรคที่เกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์
– ให้น้ำนมในปริมาณมาก แม่สุนัขที่มีลูกปริมาณมากความต้องการน้ำนมจึงมากขึ้นตามไปด้วย ในวันที่สิบถึงสามสิบของการให้นม ความสามารถในการปรับระดับแคลเซียมในกระแสเลือดของแม่สุนัขจะน้อยลง แต่ลูกสุนัขก็มีความต้องการและความสามารถในการดูดนมในปริมาณมากขึ้น ทำให้แม่สุนัขไม่สามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอ ทำให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำลง ซึ่งโดยปกติแล้วแคลเซียมมีความสำคัญต่อการส่งผ่านของกระแสประสาท และการบีบตัวของกล้ามเนื้อ ดังนั้นจึงเกิดความผิดปกติขึ้นกับกล้ามเนื้อเมื่อระดับแคลเซียมต่ำ

การรักษา :
1. ให้แคลเซียมกลูโคเนตเข้าเส้นเลือดช้าๆด้วยความระมัดระวัง หากให้มากเกินอาจส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ บ่อยครั้งที่อาจต้องทำ ECG ร่วมด้วยเพื่อเฝ้าระวังดูอัตราการเต้นหัวใจและความดันเลือด
2. ให้เดร็กโตสเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน หลังจากการกระตุก ชักที่กล้ามเนื้อจะใช้พลังงานจากกลูโคสหรือไกลโคเจนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับกลูโคสในกระแสเลือดต่ำลงด้วย เราจึงควรให้กลูโคสร่วมด้วย เนื่องจากกล้ามเนื้อสั่นและกระตุกทำให้อุณหูมิในร่างกายสูงขึ้นมาก โดยปกติแล้วอุณหภูมิร่างกายประมาณ 101 ถึง 102 องศาฟาเรนไฮต์ โรคไข้น้ำนมอาจทำให้อุณหภูมิสูงถึง 107 องศาซึ่งอันตรายมากอาจทำให้เกิดการทำลายสมองอย่างถาวรได้
3. อาจให้ยาซึมอย่างอ่อนในกรณีเพื่อช่วยในการคลายกล้ามเนื้อ
4. cool pack ประคบเพื่อลดอุณหภูมิเข้าใกล้ระดับปกติที่สุด

การป้องกัน :
1. ให้อาหารที่มีคุณภาพสูง แต่ไม่มากเกินความต้องการเพื่อเป็นแหล่งของแคลเซียม และวิตามินต่างๆ
2. เราสามารถป้องกันได้โดยการเสริมแคลเซียม ฟอสฟอรัสและวิตามินดี ในช่วงกลางของการตั้งท้องได้ ไม่ควรให้แต่แคลเซียมอย่างเดียว เพราะอาจเกิดความไม่สมดุลของระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสได้ ค่าปกติ ca:p 1.2 : 1
3. แนะนำให้นมผงสำหรับลูกสุนัขแทน
4. ควรหย่านมเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

“ตับ” ของโปรดแสนอร่อยของสุนัข

อาหารที่เจ้าของให้สุนัขกินมีหลากหลายแบบ เช่นผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขตามท้องตลาดที่มีมากมาย ทั้งยี่ห้อและรูปแบบของอาหารได้แก่ อาหารเม็ด อาหารกระป๋อง หรือแม้แต่อาหารเสริมต่างๆ ในบางครอบครัวอาจมีอาหารรูปแบบอื่นๆ เช่น อาหารปรุงเองให้สุนัขกิน ซึ่งอาจให้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขทั่วไป หรือให้สุนัขกินอาหารปรุงเองเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างของอาหารปรุงเองที่นิยมให้สุนัข ได้แก่ ไก่ทอดหรือไก่ย่าง หมูทอด และที่เป็นอาหารสุดโปรดของสมาชิก 4 ขา ในหลายครอบครัวคือ อาหารที่มีส่วนผสมของตับ เช่น ตับไก่และตับหมู หลายครั้งที่เจ้าของพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์มักได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องอาหารที่มักตรงข้ามกับอาหารที่สุนัขชื่นชอบ หากเจ้าของปรุงอาหารที่มีส่วนผสมของตับให้สุนัขกินต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สุนัขอาจแสดงลักษณะบางอย่างที่ผิดปกติไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น ขนหยาบกร้าน หรือผิวหนังแห้ง อาการดังกล่าวนี้มีสาเหตุจากสิ่งใด หรือให้กินตับในปริมาณมากหรือให้เป็นระยะเวลานานๆ อาจเกิดสิ่งผิดปกติอื่นๆ ได้อีกหรือไม่

ในอาหารที่มีส่วนผสมของตับ จะมีปริมาณของวิตามินเอเป็นจำนวนมาก หากสุนัขกินอาหารที่มีส่วนประกอบของตับในปริมาณมาก หรือได้รับในระยะเวลานาน จะเกิดการสะสมของวิตามินเอ จนเกิดความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย

อาการ
สุนัขที่กินอาหารที่มีส่วนประกอบของตับ หรือได้รับวิตามินเอในระยะเวลานานจนเกิดความเป้นพิษ อาจสังเกตพบอาการต่างๆ เช่น มีร่างกายซูบผอม และน้ำหนักลด ซึม ผิวหนังและขนหยาบกร้าน เจ็บเวลาเดิน หากเป็นในลูกสุนัข อาจพบว่าสุนัขมีรูปร่างแคระแกรนผิดปกติ จัดเป้นอาหารที่เด่นชัดและมีผลกระทบต่อสุนัขมาก สามารถพบได้ในกรณีที่สุนัขกินตับในปริมาณมากๆ เนื่องจากปริมาณของวิตามินเอที่สะสมในร่างกายจนเกิดความเป็นพิษนั้นจะส่งผลให้เกิดกระบวนการเจริญของกระดูกที่ผิดปกติไป เช่น การหยุดการสร้างคอลลาเจนที่เป้นส่วนประกอบของกระดูก ลดการเจริญของกระดูกในลูกสุนัข และเกิดการเจริญที่ผิดปกติของกระดูกอ่อน เมื่อพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ เข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อแยกความผิดปกติของกระดูกในกรณีอื่นๆ โดยการตรวจคลำร่วมกับการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ เช่นการิกเสบของกระดูกหรือเนื้องอกกระดูก เป็นต้น

การแก้ไข
ควรเปลี่ยนอาหารที่ให้สุนัขกินเป็นอาหารที่มีสัดส่วนของอาหารอย่างสมดุล เช่นผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขที่มีจำหน่ายทั่วไป โดยมีสัดส่วนของอาหารที่สมดุลมากกว่าอาหารปรุงเอง บางครั้ง หากสุนัขมีอาหารต่างๆ สัตวแพทย์อาจให้การรักษาทางยาร่วมด้วย ในกรณีที่พบอาการในสุนัขโตเต็มวัยพบว่าสุนัขมีการปรับสภาพร่างกายให้เป็นปกติได้ค่อนข้างดี แต่อาจพบอาการอื่นๆ ได้บ้าง เช่น อาการข้อต่อแข็งเกร็ง เป็นต้น ในกรณีที่พบอาการเป็นพิษของวิตามินเอในลูกสุนัขอาจพบการเจริญที่ผิดปกติของโครงสร้างทางร่างกายได้

กินสิ่งแปลกปลอมติดหลอดอาหาร

กินสิ่งแปลกปลอมติดหลอดอาหาร

การแทะกินสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่นเมล็ดผลไม้ขนาดใหญ่ เศษผ้า ลูกบอลยางหรือแม้แต่การกินอาหารที่มีลักษณะไม่เหมาะสมกับขนาดตัวของสุนัข เช่น อาหารหรือขนมที่มีขนาดใหญ่เกินไป หรือการให้กระดูกหมูหรือกระดูกไก่แก่สุนัข สามารถทำให้เกิดการอุดตันท่อทางเดินอาหารส่วนต้น หรือหลอดอาหารของสุนัขได้ โดยทั่วไปมักพบความผิดปกติดังกล่าวในสุนัขที่มีสายพันธุ์เล็ก และบ่อยครั้งมักพบในกลุ่มพันธุ์เทอร์เรียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสุนัขหรือสุนัขรุ่น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากลักษณะนิสัยที่ซุกซน ชอบกัดกินสิ่งแปลกปลอม หรือการกินอาหารโดยไม่ได้ผ่านการบดเคี้ยวอย่างละเอียด วัสดุ ผิวหรือรูปทรงของอาหารที่ผิดปกติสามารถทำให้เกิดการอุดตันที่หลอดอาหารได้

อาการ
บางครั้งเจ้าของสุนัขอาจให้ประวัติเกี่ยวกับพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของสุนัขแก่สัตวแพทย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม อาการทั่ว ๆ ไปของสุนัขที่คาดว่าอาจเกิดการอุดตันบริเวณหลอดอาหารสามารถสังเกตได้จาก อาการกระสับกระส่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำการคลำบริเวณลำคอ ซึม เบื่ออาหาร น้ำลายสอ กลืนอาหารลำบาก และแสดงอาการขย้อนอาหาร

ภายหลังการตรวจร่างกายโดยสัตวแพทย์อย่างละเอียด อาจพบว่าสุนัขมีอาการแห้งน้ำ เลือดข้น แร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุล และมีการติดเชื้อในร่างกาย จากอาการดังกล่าวนี้ อาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่สุนัขได้รับความผิดปกติ ทั้งนี้ควรได้รับการวินิจฉัยเพื่อแยกออกจากความผิดปกติอื่น ๆ ที่แสดงอาการต่าง ๆ คล้ายคลึงกัน เช่น การอักเสบของหลอดอาหาร การตีบตันของหลอดอาหาร มีเนื้องอกในหลอดอาหาร การขยายใหญ่ของหลอดอาหารรวมทั้งความผิดปกติอื่น ๆ

การรักษา ในการวินิจฉัยโดยการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ อาจพบหรือไม่พบเห็นสิ่งแปลกปลอม เช่น ในกรณีที่สิ่งแปลกปลอมเป็นวัสดุประเภทผ้าหรือยาง เป็นต้น ซึ่งอาจต้องวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ร่วมกับเทคนิคพิเศษ เช่น การกลืนสารทึบรังสี เพื่อระบุขนาดหรือตำแหน่งของสิ่งแปลกปลอม นอกจากนั้นอาจพบการคั่งของแก๊สในบริเวณส่วนต้นของหลอดอาหาร ก่อนถึงบริเวณที่มีการอุดตันในบางครั้งอาจพบว่ามีน้ำหรืออากาศคั่งอยู่ในบริเวณช่องอกของสุนัข ซึ่งกรณีนี้แสดงถึงการฉีกขาดของหลอดอาหารในช่องอก สุนัขบางตัวอาจมีการอักเสบของปอดเนื่องจากการสำลักของเหลวเข้าปอด

การวินิจฉัยที่สำคัญมักนิยมใช้การส่องกล้องเข้าหลอดอาหารส่วนต้น เพื่อดูลักษณะของสิ่งแปลกปลอมรวมทั้งลักษณะของเยื่อบุทางเดินอาหาร ในกรณีที่สิ่งแปลกปลอมมีขนาดเล็ก การส่องกล้องยังสามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยนำสิ่งแปลกปลอมออก ในกรณีที่สิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่หรือมีการฉีกขาดของหลอดอาหารอาจต้องทำการแก้ไขและนำสิ่งแปลกปลอมออกโดยวิธีการผ่าตัด

ภายหลังจากการแก้ไขภาวะอุดตันของหลอดอาหาร การดูแลสุนัขจะแตกต่างกันในสุนัขแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดปกติที่เกิดขึ้นหรือการบาดเจ็บของเยื่อบุท่อทางเดินอาหาร ในกรณีที่เนื้อเยื่อมีการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยสัตวแพทย์มักแนะนำให้กินอาหารอ่อนร่วมกับการรักษาทางยา เช่น การให้ยาปฏิชีวนะ ยาเคลือบท่อทางเดินอาหาร ยาลดอาเจียน ยาลดกรด เป็นต้น ส่วนในกรณีที่มีการบาดเจ็บในปริมาณมาก สัตวแพทย์อาจทำการสอดท่อให้อาหารหรือการงดน้ำและอาหารในระยะแรก ร่วมกับการให้น้ำและสารอาหารผ่านทางเส้นเลือด เพื่อพักการทำงานของหลอดอาหาร

การติดตามผลภายหลังการรักษา ทำเพื่อดูความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การตีบของหลอดอาหาร เนื่องจากการหายของบาดแผลของเยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งอาจพบอาการได้ภายหลังการรักษาประมาณ 2-3 เดือน นอกจากนั้นยังอาจพบความผิดปกติอื่น ๆ ได้ด้วย การวินิจฉัยเพื่อตรวจดูการตีบของหลอดอาหารภายหลังนั้นอาจทำโดยการกลืนแป้งและถ่ายภาพเอ็กซเรย์ หรือการส่องกล้องเข้าหลอดอาหาร เพื่อตรวจหาความผิดปกติและทำการรักษาต่อไป

ที่มา สุนัข รอบรู้โรคและภัยใกล้ตัว

กลิ่นปากไม่พึงประสงค์

บางครั้งเมื่อเจ้าของเล่นคลุกคลีกับสุนัขอย่างใกล้ชิด มักได้กลิ่นผิดปกติจากช่องปากสุนัข กลิ่นเหล่านี้มักเป็นกลิ่นเหม็นไม่พึงประสงค์ โดยส่วนใหญ่สุนัขที่พบปัญหากลิ่นปากมักเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีอายุยืนกว่าสายพันธุ์ใหญ่ อีกทั้งในสุนัขพันธุ์เล็ก รวมถึงสุนัขที่มีหน้าสั้น มักมีการเรียงตัวของชุดฟันอย่างหนาแน่น และใกล้ชิด ส่งผลให้เกิดการสะสมของคราบอาหารที่เหมาะแก่การเจริญของเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก

สาเหตุ
โดยทั่วไปของการมีกลิ่นปากไม่พึงประสงค์ จะบ่งบอกถึงลักษณะความผิดปกติในช่องปากรวมถึงสาเหตุอื่นได้ เช่น
* การอักเสบของเหงือกและบริเวณช่องปาก
* ฝีอักเสบบริเวณฟัน และรากฟัน
* สิ่งแปลกปลอม เช่นกระดูก หรือเส้นขนที่ติดอยู่ภายในช่องปาก
* เนื้องอกบริเวณช่องปาก
* ความผิดปกติต่างๆของระบบทางเดินหายใจ เช่นช่องและโพรงจมูกอักเสบ หรือมีเนื้องอกในช่องทางเดินหายใจ
* ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหารส่วนต้น เช่นหลอดอาหารขยายใหญ่ มีเนื้องอกหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินอาหาร
* ปัญหาของผิวหนังบริเวณใบหน้า เช่นผิวหนังอักเสบบริเวณริมฝีปาก
* ปัญหาระบบขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ในกรณีที่สุนัขป่วยเนื่องจากภาวะไตวายเรื้อรัง

จากภาวะที่ไม่เหมาะสมต่างๆ บริเวณช่องปากและอวัยวะใกล้เคียง รวมกับการสะสมของคราบอาหารซึ่งเป็นแหล่งอาหารอย่างดีให้กับแบคทีเรียในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียที่ดำรงชีวิตแบบไม่ใช้ออกซิเจนก่อให้เกิดกระบวนการหมักและผลิตแก๊สกลุ่มซัลไฟด์ ซึ่งเป็นแก๊สที่มีกลิ่นเหม็นนอกจากนั้นแก๊สกลุ่มซัลไฟด์นี้ ยังส่งผลให้เกิดความผิดปกติบริเวณขอบเหงือก และเพิ่มการดูดซึมของเชื้อแบคทีเรียและสารพิษที่สร้างจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น

ลักษณะอาการ
อาการต่างที่สุนัขแสดงออก ในกรณีที่มีความผิดปกติ และส่งผลให้เกิดกลิ่นปาก ได้แก่
* อาการซึมและเบื่ออาหาร
* เจ็บบริเวณปาก และกินอาหารลำบาก
* พบเลือดออกจากบริเวณปากและเหงือกของสุนัข
* มีน้ำลายไหลตลอดเวลา
* บางกรณี สุนัขอาจแสดงอาการตะกุยบริเวณปาก

หากเจ้าของสังเกตพบสุนัขแสดงอาการข้างต้น ควรรีบนำสุนัขเข้ารับการตรวจช่องปาก และตรวจการทำงานของร่างกายอย่างละเอียด เนื่องจากความผิดปกติบางอย่าง อาจมีอันตรายจ่อสุนัข เช่น การมีหินปูนและช่องปากอักเสบ รวมกับการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียและสารพิษในกระแสเลือด ส่งผลให้มีความผิดปกติของหัวใจ ตับ และไต รวมทั้งหากมีก้อนเนื้อ หรือสิ่งแปลกปลอมในบริเวณทางเดินอาหาร หรือทางเดินหายใจส่วนต้น อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติร้ายแรงได้

โดยทั่วไปสัตวแพทย์จะแนะนำให้เจ้าของทำการตรวจสุนัขโดย
* การตรวจสุขภาพโดยทั่วไปของสุนัข และการเจาเลือดเพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย
* ตรวจช่องปากอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของฟัน และเหงือกสุนัข (อาจจะจำเป็นต้องวางยาสลบสุนัข)
* ในกรณีที่บว่าเกิดปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่นการอักเสบบริเวณฟัน หรือมีฝีบริเวณรากฟัน อาจทำการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ช่องปากของสุนัข เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติ

การรักษาและป้องกัน
การรักษาหรือแก้ไขปัญหากลิ่นปากในสุนัข ควรทำการรักษาโดยมุ่งไปที่สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความผิดปกติ ร่วมกับการทำความสะอาดในบริเวณช่องปาก เช่นการขูดหินปูน และการดูแลความสะอาดภายในช่องปากสุนัขอย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการทำความสะอาดและลดคราบอาหารภายในช่องปากมากมายหลายชนิด เช่น แปรงและยาสีฟันสำหรับสุนัข อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบในการลดคราบอาหารและหินปูนในช่องปาก ในกรณีที่มีการอักเสบแบบติดเชื้อบริเวณช่องปาก สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฎิชีวนะแก่สุนัขร่วมกับการใช้สารละลายที่มีส่วนประกอบของคลอเฮกซีดีน ในการทำความสะอาดบริเวณช่องปาก

การดูแลสุขภาพฟันสุนัขและแมว

ทำไมสุขอนามัยในช่องปากจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ฟันของสุนัขและแมวก็เหมือนกับฟันของคนเรา คือจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการไม่ดูแลสุขอนามัยในช่องปาก จะนำไปสู่ปัญหาการสะสมของคราบฟัน (Plaque) อันจะก่อให้เกิดปัญหาการอักเสบของเหงือกและฟัน อาการปวดฟัน และอาจลุกลามจนกลายเป็น “โรคปริทันต์”

โรคปริทันต์ คืออะไร
โรคปริทันต์ คือโรคที่เกิดขึ้นกับช่องปากและฟันซึ่งจะเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียที่เหงือก, รากฟันและเอ็นยึดฟัน โรคปริทันต์ จะประกอบไปด้วย โรคเหงือกอักเสบเบื้องต้น (Gingivitis), โรคเหงือกและรากฟันอักเสบรุนแรง (Periodontitis)
อาการโดยทั่วไปของโรคปริทันต์คือ สัตว์เลี้ยงจะมีกลิ่นปาก และมีลมหายใจเหม็น, มีคราบฟันสะสมบริเวณคอฟัน, เบื่ออาหาร, ไม่อยากเคี้ยวอาหาร, เหงือกบวม มีสีแดงคล้ำหรือมีเลือดออก, ฟันหลุดร่วง หรือเหงือกร่นสูง

อะไรคือสาเหตุของโรคปริทันต์
สาเหตุของโรคปริทันต์เริ่มจากการตกค้างของอาหารตามซอกฟัน, การสะสมของแบคที่เรียและแคลเซียมที่บริเวณคอฟัน (ตัวฟันกับขอบเหงือก) ซึ่งถ้าสัตว์เลี้ยงไม่ได้รับการดูแล การสะสมของแบคทีเรียและแคลเซียมจะเริ่มทำให้ของเหงือกอักเสบ เกิดการติดเชื้อลุกลามทำลายเหงือก, เนื้อเยื่อรอบๆ ฟัน, รากฟัน ตลอดจนกระดูกกรามที่ฟันยึดติดอยู่ กระดูกกรามจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ฟันที่ติดยึดอยู่จะถูกทำลายและหลุดร่วง หลังจากนั้นเชื้อแบคทีเรียจะสามารถเข้าสู่กระแสโลหิต และก่อให้เกิดการติดเชื้อที่หัวใจ ตับ และไตได้

เราสามารถป้องกันโรคปริทันต์ได้อย่างไร

1. ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำโดยสัตวแพทย์
– ผู้เลี้ยงควรมีการนำสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุภาพช่องปากเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน
– ในกรณีที่มีคราบสะสมที่ฟันมาก ควรให้สัตวแพทย์ทำความสะอาด และกำจัดคราบเหล่านั้นออกไป

2. การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอที่บ้าน
นอกเหนือจากการนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำแล้ว ผู้เลี้ยงจะต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปากสัตว์เลี้ยงด้วยตนเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ

3. การแปรงฟัน
เพราะการแปรงฟันเป้นการกำจัดคราบฟัน (Plaque) ที่ได้ผลดีมากที่สุด สัตวแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้มีโปรแกรมดูแลสุขอนามัยในช่องปากโดยการแนะนำให้แปรงฟันให้แก่สัตว์เลี้ยงสม่ำเสมอ

ที่มา: เพื่อสุขภาพที่ดีของเหงือกและฟัน…มาแปรงฟันให้เพื่อน (สี่ขา) ของเรากันเถอะ , เอกสารแจกบ. virbac

สัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าสุนัขของคุณป่วย

สัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าสุนัขของคุณป่วย
การสังเกตอาการเจ็บป่วยของสุนัข

1. พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป
อาการที่สังเกตได้คือซึม, เบื่ออาหาร, กระวนกระวาย, เหนื่อยง่าย
มักจะนอนอยู่นิ่งๆ ไม่ร่าเริง

2. อุณหภูมิร่างกาย การหายใจ การเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง
โดยปกติอุณหภูมิร่างกายลูกสุนัขจะต่ำกว่าสุนัขโต (ไม่เกิน 103 องศาฟาเรนไฮท์)
ถ้าเจ้าของพบว่าสุนัขตัวร้อนมากกว่าปกติ ควรพาไปพบสัตวแพทย์

3. อาการแสดงความเจ็บป่วย หรือเจ็บปวด
โดยสุนัขอาจจะร้องหรือ มอง หรือเลีย, เกา หรือ กัด แทะบริเวณที่เกิดปัญหา
เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด หรืออยู่กับที่นอน ไม่ยอมลุกออกไปไหน

4. อาการอื่นๆ
อาเจียน, น้ำหนักขึ้น หรือลดผิดปกติ, กินอาหารน้อยลง, กินน้ำลดลง,
เบื่ออาหาร, ขนร่วง, ตาแดง, ปัสสาวะมีเลือดปน, หรือมีกลิ่นปาก

จากอาการที่สังเกตได้จากที่กล่าวไว้ข้างต้น แสดงว่า ลุนัขของคุณไม่สบาย
ซึ่งเจ้าของควรมีเวลาดูแลสุนัขเพื่อสังเกตพฤติกรรมปกติของสุนัข
เพื่อจะสังเกตได้เมื่อพบการเปลี่ยนแปลง และรักษาได้เร็วขึ้น

ที่มา : Dog-Illness-Symptoms

ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ไปต่อที่นี่เลยค่ะ คลีนิคปรึกษาปัญหาสัตว์เลี้ยงออนไลน์

ขออภัยในความไม่สะดวกนะคะ

 

การดูแลสุนัข

การดูแลสุนัข
ที่นอน
ควรจะอบอุ่น เข้าออกง่าย และบังลมและแดดได้ ควรปูพื้นด้วยผ้าห่มหรือพรม
พร้อมใส่ของที่สุนัข สามารถกัดแทะเล่นได้ ต้องดูแลที่นอนให้สะอาดเสมอ
ถ้าสุนัขที่เข้าไปอยู่ในกรงใหม่ๆ สุนัขอาจจะเห่าไม่เลิก ให้ดุสุนัขดังๆ และกล่าวชมเมื่อสุนัขหยุดเห่า
แต่อย่าปล่อยให้สุนัขคิดว่าการเห่า จะช่วยให้สุนัขออกไปได้

อาหารสำหรับสุนัข สุนัขจะกินอะไร
การให้อาหารและปริมาณสารอาหาร จะแตกต่างกันไปตามอายุของสุนัข
การให้อาหารลูกสุนัข อาจจะยุ่งยากเล็กน้อย
เพราะลูกสุนัขมักจะหย่านมในช่วงที่มีอายุประมาณ 4 ถึง 5 สัปดาห์
ซึ่งควรจะให้อาหารแข็งได้ก่อนที่สุนัขจะมีอายุครบ 6 ถึง 8 สัปดาห์
เพราะส่วนใหญ่แม่สุนัขแทบจะไม่ให้ลูกสุนัขดูดนมอีกต่อไปแล้ว
เนื่องจากฟันของลูกสุนัขเริ่มขึ้นในช่วงนี้พอดี
ดังนั้นเมื่อคุณนำลูกสุนัขมาบ้านเมื่อสุนัขมีอายุ 8 สัปดาห์
สุนัขก็ควรจะหย่านมและคุ้นเคยกับอาหารแข็งแล้ว
แต่คุณต้องให้อาหารแก่ลูกสุนัขอย่างน้อยวันละ 3 หรือ 4 ครั้ง
นอกจากนี้สุนัขยังต้องการแคลอรี่มากเป็นสองหรือสามเท่า
จากจำนวนที่สุนัขต้องการเมื่อโตเต็มที่แล้ว
อย่าลืมเตรียมน้ำสะอาดไว้ให้สุนัขตลอดเวลาด้วย

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับดูแลสุนัข
ปลอกคอและสายรั้งปลอกคอ
ถ้าคุณมีสุนัขตัวใหญ่ คุณต้องใช้ปลอกคอขนาดใหญ่ทำด้วยโซ่
โซ่ที่สามารถปรับให้หลวมและคับได้ตามความต้องการ
ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มากสำหรับการฝึกสุนัขให้เชื่อฟังคำสั่ง
ควรระมัดระวังการใช้ปลอกคอชนิดนี้ไว้เสมอ เพราะถ้าคุณไม่ระวัง
โซ่อาจจะรัดคอสุนัขจนสุนัขหายใจไม่สะดวก ซึ่งอาจจะทำให้สุนัขไอด้วย

กรรไกรตัดเล็บ
แม้ว่าการออกกำลังกายของสุนัขบนพื้นที่มีความแข็งจะทำให้เล็บสุนัขสั้นลงแล้วก็ตาม
แต่คุณก็ยังจำเป็นต้องตัดเล็บให้สุนัข ควรใช้กรรไกรตัดเล็บที่ทำขึ้นมาเพื่อสุนัขโดยเฉพาะ

แปรงและหวี
ความยาวของขนสุนัขเป็นตัวกำหนดชนิดของหวีและแปรงที่จะใช้
ถ้าคุณมีสุนัขที่มีขนสั้น ควรเลือกแปรงที่มีขนอ่อน ขนาดกลาง
เพื่อช่วยรักษาให้ขนของสุนัขได้รูปทรง สุนัขเองก็จะรู้สึกสบายไปด้วย
ถ้าคุณแปรงขนไปในทิศทางที่สุนัขงอกออกมา

ถ้าสุนัขของคุณมีขนยาว ในตอนแรกคุณอาจจะต้องใช้ หวีสางขนที่พันกันออกเสียก่อน
แล้วจึงใช้แปรงที่มีขนแข็งต่อจากนั้น

หลักการเลือกสุนัขที่สุขภาพดี

หลักการเลือกสุนัขที่สุขภาพดี
เมื่อคุณตัดสินใจที่จะมีเพื่อนคู่ใจเป็นสัตว์เลี้ยงและเลือกแล้วว่าจะเอาสุนัขหรือแมว ตัวผู้หรือตัวเมีย พันธุ์แท้หรือพันธุ์ผสม ที่นี้คุณก็มามองหาสัตว์ตัวนั้น คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงตัวไหนสุขภาพดี ชนิดไหนเหมาะกับการดำเนินชีวิตของคุณ คุณอาจมีตัวเลือกไว้ในใจเรียบร้อยแล้วแต่เรามีคำแนะนำให้คุณในการเลือกสุนัข

อายุและอุปนิสัย
ลูกสุนัขที่ซื้อควรมีอายุประมาณ 8 สัปดาห์หรือ 2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมที่จะสอน ลูกสุนัขจะเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ จากเพื่อนในคอกและแม่ของมัน ลูกสุนัขที่ก้าวร้าวเกินไปโตขึ้นก็จะเป็นสุนัขที่ก้าวร้าวไม่เชื่อฟัง ลูกสุนัขที่ขี้อาย เฉื่อย โตขึ้นก็จะเป็นสุนัขที่ขี้ขลาดได้ การดูแล การให้อาหาร และการเข้าสังคมของสัตว์เลี้ยงก็เป็นสิ่งสำคัญหลังจากซื้อมาแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถกำหนดพฤติกรรมของสุนัขได้ การเลือกสุนัขเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเอาใจใส่และมีความรักใคร่

หัว
ดูว่าจมูกเย็นและชื้นหรือไม่ การหายใจเป็นอย่างไร เหงือกควรมีสีชมพูสด สีซีดอาจหมายถึงโรคโลหิตจางหรือพยาธิ ฟันสะอาดและแข็งแรงหรือไม่ ฟันบนและฟันล่างประกบกันดีหรือไม่ ตาควรใสสะอาดและมองตรงไปข้างหน้า จุดขาวและเส้นบนผิวของนัยน์ตาอาจหมายถึงปัญหา ตรวจตาแดงและการอักเสบของตา เปลือตาม้วนเข้าหรือออก ช่องหูควรสะอาดและไม่มีกลิ่น การมีขี้หู สั่นหัว อาจมีไรหูหรือการติดเชื้อ

ร่างกาย
สุนัขที่มีท้องบวมแสดงถึงสุนัขที่อ้วนหรืออาจมีพยาธิ การบวมที่สะดือหรือขาหนีบอาจหมายถึงเป็นไส้เลื่อน การเต้นของหัวใจเป็นปกติหรือไม่ อวัยวะเพศสะอาดไม่มีสิ่งผิดปกติที่ชี้ถึงการเป็นพยาธิ ท้องเสีย หรือระบบย่อยอาหารผิดปกติ ในตัวผู้ควรมีอัณฑะ 1 คู่ ขนสะอาดไม่มีหมัด เห็บ ไม่มีแผลอักเสบหรืออาการคัน ที่ชี้ว่ามีหมัดหรือปรสิตอื่นๆ

กระดูกและกล้ามเนื้อ
สุดท้ายก็เช็คความสมบูรณ์และโครงสร้าง ขาตรงและโครงสร้างดีหรือไม่ นิ้วเท้าโค้งได้สัดส่วนหรือไม่ สุนัขนั้นวิ่งโดยมีอาการขาพิการหรือไม่ น้ำหนักไม่ควรมากหรือน้อยเกินไป สัดส่วนต้องเหมาะสมกับอายุและน้ำหนัก

ข้อมูลจากผู้ผสมพันธุ์และอื่นๆ
เมื่อคุณเลือกเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมถามถึงกำหนดการฉีดวัคซีน ปริมาณอาหาร ใบรับรองสำหรับสุนัขพันธุ์แท้ เมื่อคุณทำตามขั้นตอนทั้งหมดคุณก็จะได้สุนัขสุขภาพดีกลับบ้าน

ที่มา http://www.vet.ku.ac.th/library-homepage/article/dog/chooshealthdg.htm


หมวดหมู่

Blog Stats

  • 260,915 hits

FFF